วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศิลปวัฒนธรรมไทย

ความหมายของ "วัฒนธรรม"
ในปัจจุบันคำว่า วัฒนธรรม กลายเป็นเรื่องเข้าใจยากทั้งในเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมคืออะไร? อะไร? ที่เป็นวัฒนธรรม จนทำให้เยาวชนเห็นว่าวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ล้าสมัยน่าเบื่อหน่าย มีทัศนคติที่ไม่ดี และในที่สุดก็ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของ ศิลปะและวัฒนธรรมไทย

หากเราทำความเข้าใจ ศิลปวัฒนธรรมไทย แล้วเราจะมีความรู้สึกว่า วัฒนธรรม เป็น เรื่องที่สนุก น่าสนใจ น่าศึกษาและไม่ใช่เรื่องเก่าๆ ที่ล้าสมัยแต่อย่างใด และเข้าใจง่าย

วัฒนธรรม คือ อะไร?

วัฒนธรรม คือ วิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การกิน การละเล่น การแสดง การร้องเพลง เป็นต้น คือเรียกว่า อะไรเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ถือว่าเป็น วัฒนธรรม ทั้งหมด แต่ถ้าหากเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น น้ำตก ภูเขา ทะเลหรือสถานที่ ท่องเที่ยว เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จัดเป็นมรดกทางธรรมชาติไม่ใช่วัฒนธรรม ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นมาย้อนหลังไปในอดีต เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ เพลงพื้นบ้าน หรือประเพณีต่างๆ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาตั้งแต่อดีตเราจะเรียกว่า มรดกทางวัฒนธรรม

อีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต เราเรียกว่า วัฒนธรรมร่วมสมัย ยกตัวอย่าง เช่น การที่เรามาเรียนในวันนี้ ก็เป็นงานวัฒนธรรมได้ เพราะว่าเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ในอดีตผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือให้เรียนแต่เฉพาะผู้ชาย เรียนด้วยภาษาไทยและเรียนที่วัด มีพระเป็นครูสอน มีอะไรบ้างที่เป็น มรดกทางวัฒนธรรม มีสถานการศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลง มีมรดกทางภาษาที่ตกทอดมาถึงเรา อันนี้ก็ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหมือนกัน แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ และตัวอย่างที่ชัดเจนในการเรียนวันนี้ ที่เห็นชัด คือ ไม่จำเป็นต้องมีกระดานดำที่จะต้องเขียน แต่ใช้ PROJECTOR แทนการเขียนกระดานดำ ในอนาคตเราก็อาจไม่ต้องเดินทางมาเรียน อนาคตอีก ๑๐ ปีข้างหน้า เราอาจเรียนอยู่บ้านทาง INTERNET เหมือนตอนที่ไข้หวัดซาส์ระบาดที่ประเทศจีน โรงเรียนปิดเรียนหมดนานนับเดือน แต่ให้นักเรียนเรียนทาง INTERNET จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและจะเกิดขึ้นในอนาคต อันนี้เราเรียกว่า วัฒนธรรมร่วมสมัย

วัฒนธรรมของไทย อีกตัวอย่าง เช่น การที่เรากินอาหาร เราก็เรียกว่าวัฒนธรรมได้เหมือนกัน เพราะคนไทยกินข้าว ต่างกับวัฒนธรรมการกินของชาติอื่นๆ คนอินเดียกินโรตี คนจีนกินข้าวต้มใช้ตะเกียบ ฝรั่งกินขนมปัง ก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ที่เขาเรียกว่า วัฒนธรรมต่างประเทศ มีบทบาทในวัฒนธรรมไทยอย่างเช่น การกินแฮมเบอร์เกอร์ นั่นก็หมายความว่าเรารับเอาวัฒนธรรมต่างชาติ เข้ามาเปรียบเสมือนเราไม่รักชาติ รักถิ่น เพราะขนมปังทำแฮมเบอร์เกอร์ทำมาจากข้าวสาลีที่ไม่ได้ปลูกในประเทศไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เกษตรกรไทยในประเทศชาติเราก็ไม่สามารถที่จะขายข้าวได้ มันจึงส่งผลกระทบถึงประเทศชาติ ชุมชน และตัวเราด้วย พ่อแม่เราที่เป็นเกษตรกรก็ยากจนลง เราไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภูมิปัญญา ก็คือการเอาสิ่งของที่อยู่ในท้องถิ่นของเรามาใช้ เช่น อาหารไทย ต้มยำกุ้ง ที่เป็นอาหารธรรมดาๆ ของสังคมไทย มีสมุนไพรที่มีประโยชน์เป็นยาอยู่มากมาย อย่างเช่น ตะไคร้ ก็จะช่วยขับปัสสาวะได้ หอมแดง ซึ่งสามารถไล่หวัดได้ สิ่งที่มีอยู่ในนั้น คนต่างชาติเอาไปวิจัย ไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์วงการแพทย์ว่าเป็นยาที่ดีมาก สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า ภูมิปัญญา ซึ่งชาญฉลาดกว่าอาหารต่างชาติ เช่น การกินแฮมเบอร์เกอร์นานๆ จะทำให้เกิดการสะสมของไขมัน ลำไส้ทำงานน้อย เป็นสาเหตุทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ได้ หรือการกินบะหมี่สำเร็จรูปแบบญี่ปุ่น ก็ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารอะไรเลย จะเห็นว่าในอาหารไทยมี มรดกทางปัญญา ล้ำค่ามาก

หรือการละเล่นของเด็กไทยในอดีต แต่ละอย่างก็เป็นภูมิปัญญาได้เหมือนกัน เพราะการได้รู้จักเพื่อนเป็นกลุ่ม รู้จักสามัคคีช่วยเหลือกัน ไม่ต้องเสียเงินและได้ออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง ต่างกับในปัจจุบันที่เราไปเล่นอินเตอร์เน็ต เสียเงิน เสียสายตา เกมทำร้ายกัน ต่อสู้กัน นอนดึก และเพื่อนฝูงน้อยลงเพราะอยู่แต่หน้าจอเป็นต้น

และอีกเรื่องก็คือ เรื่องที่มาของ มูลค่าเพิ่ม อย่างเช่น การทำตุ๊กตาจิ๋ว การนำเอาดินเหนียวที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ไม่มีราคา นำมาปั้นเป็นตุ๊กตา อย่างนี้เราเรียกว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นพิพิธภัณฑ์ของเราก็ถือว่าเป็นทรัพยากรของพวกเรา ทรัพยากรท้องถิ่นและชุมชน เราต้องรักท้องถิ่น รักชุมชน หากเราทำให้คนมาเที่ยวกันเยอะ เราก็อาจจะขายของได้ ถ้าในอนาคตเราสามารถดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เข้ามาเที่ยวได้ จะทำให้ชุมชนของเรามีรายได้มากขึ้น เช่น การขายของที่ระลึก ขายอาหาร ขายผลไม้ มีงานทำมากขึ้น ฯลฯ ดังนั้นเราทุกคนต้องเริ่มจากตัวเราก่อนที่จะอนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทย เอาไว้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังและจะเรียกว่า การพัฒนาวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

สุนทรียะทางศิลปวัฒนธรรม หมายถึง ความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย ที่สามารถจะศึกษาหาความรู้จากหออัครศิลปิน มีวิธีการศึกษาเรียนรู้อะไร ตัวอย่างเช่น

ห้องอัครศิลปิน
เราจะได้เห็นถึงการที่เราเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในขณะเดียวกันก็ยังมีพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมอันเลอเลิศ ซึ่งไม่มีในประเทศไหนในโลก ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่เขียนรูป เล่นดนตรี แต่งเพลง เขียนหนังสือ หรือทำเรือใบได้เหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ห้องวรรณศิลป์
งานวรรณกรรมร้อยแก้วร้อยกรองที่แสดงให้เห็นภาพของวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างชัดเจน ผ่านตัวอักษรเสริมสร้างจินตนาการให้กับผู้เข้าชม เช่น วรรณกรรมเรื่อง ลูกอีสาน ของนายคำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติ ที่บรรยายเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวอีสานได้อย่างชัดเจน หรือวรรณกรรมเรื่อง เขียนแผ่นดิน ของนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ที่ถ่ายทอดความสวยงามของสถานที่ต่างๆ ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ด้วยภาษาไทยที่งดงามหรือมีสุนทรียะ นอกจากนี้ยังมีศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ท่านอื่นๆ อีกที่ควรศึกษา

ห้องทัศนศิลป์และศิลปะสถาปัตยกรรม
งานที่สัมผัสได้ด้วยตา การมองเห็น การสัมผัสความงาม ที่เรียกว่า สุนทรียะ เช่น ภาพเขียนงูกินหาง ที่แสดงให้เห็นความงดงามของการละเล่นพื้นบ้านไทย คือ องค์ความรู้ที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของงานจิตรกรรม เป็นต้น

ห้องศิลปะการแสดง
ผลงานเพลงไทยสากล และเพลงไทยลูกทุ่ง เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตไทยในอดีต ที่มีเรื่องราวอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ในแต่ละบทเพลงล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม เหมือนกันนิยายเรื่องหนึ่งที่จบในเพลง

เพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซว ลำตัด หมอลำ และอื่นๆ ถ่ายทอดวิถีชีวิตของไทยผ่านบทกลอนที่มีความสวยงาม ไพเราะ มีสัมผัสนอก สัมผัสใน มีดนตรีไทยประกอบ ทำให้เกิดความสนุกสนานปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนดูกับผู้เล่น อันเกิดจากความพร้อมด้วยปฏิภาณไหวพริบ และภูมิปัญญาของศิลปินโดยแท้

ภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต รูปแบบการปกครอง วิถีชีวิตของคนไทยแต่ละชนชั้นในอดีต รูปแบบและตำราการศึกสงคราม ซึ่งมีความสำคัญและมีคุณค่าทางจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกต่อคนในยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตอาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้วก็ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น