วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
รัฐธรรมนูญไทยระบุว่าประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (เขียนว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ระบบสองสภา แตกต่างจากในอดีตที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดให้ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ

ภาพรวมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในทางวิชาการกฎหมายนั้นแนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกได้ถ่ายทอดอยู่ในรูปแบบของทฤษฎีกฎหมายที่เรียกว่า ทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการสามประการ คือ การรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล รัฐธรรมนูญไทยหลายๆฉบับได้ยอมรับแนวคิดดังกล่าวและนำมาเป็นเจตนารมณ์แห่งรัฐ ธรรมนูญในการกำหนดกรอบในการตราบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายๆฉบับของไทย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้น โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติอย่างชัดแจ้งถึงหลักการดังกล่าวในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ [1]
ดังนั้นโดยสภาพแล้วรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับที่มีกรอบความคิดแบบตะวันตก ควรที่จะเกิดผลตามครรลองประชาธิปไตยตะวันตกเหมือนอย่างประเทศตะวันตก แต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองไทยดูเหมือนได้สวนทางกับ ระบบการเมืองของตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรสูงสุดของรัฐ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ซึ่งขัดกับแนวคิดทางนิติศาสตร์ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ซึ่งควรมีความศักดิ์สิทธิ์และคงทนถาวร
สำหรับประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดในการปกครองที่ประเทศหลายฉบับรัฐธรรมนูญดังกล่าว ปรากฏใน 2 ลักษณะคือ ลักษณะหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรโดยที่มีการยกร่างกันอย่างเป็นระบบกับอีกลักษณะ คือรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการชั่วคราวซึ่งมักจะเรียกว่า ธรรมนูญการปกครองนั่นเอง
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบางฉบับใช้บังคับเป็นเวลานาน เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งเกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้บังคับเป็นเวลา 9 ปีเศษ แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลายฉบับใช้บังคับในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะเป็น รัฐธรรมนูญที่มีหลักการสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง ทว่าตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะนายทหารระดับสูง ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรจึงมักจะถูกยกเลิก โดยการทำรัฐประหาร โดยคณะผู้นำทางทหาร เมื่อคณะรัฐประหาร ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อย ยึดอำนาจได้สำเร็จก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวแล้วจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรแล้วก็จะมีการเลือกตั้ง และตามด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่เมื่อรัฐบาลดังกล่าวบริหารประเทศไปได้สักระยะหนึ่งก็จะถูกทำการรัฐประหาร และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมทั้งจัดให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่อีก หมุนเวียนเป็นวงจรการเมืองของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับหลายสิบปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
แม้จะเกิดกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเข้าร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็น ประชาธิปไตยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจรทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง เพราะขณะทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองนั้น จอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมกับเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามวงจร การเมืองของไทยที่เคยเป็นมา ก็เกิดกระบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศไทย และแม้ต่อมาจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักการที่เป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง แต่ในที่สุดก็มีการทำรัฐประหารอีก และก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้วงจรการเมืองไทยหมุนกลับไปสู่วงจรเดิม คือ รัฐประหาร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และทำรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซ้ำซากไม่จบสิ้น เฉลี่ยแล้ว รัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนแปลงทุกๆ 4 ปี ต่างจากกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศใช้ จำนวน 7 มาตรา 55 อนุมาตรา ใน พ.ศ. 2332 จนถึงปัจจุบันสองร้อยกว่าปีนั้น ก็มีแต่การแก้ไขให้ทันสมัยเท่านั้น ยังหาได้มีการยกเลิกทั้งฉบับเฉกเช่นกรณีของประเทศไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี มิใช่ว่ารัฐธรรมนูญที่ดี จะไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะในความเป็นจริงย่อมไม่มีกฎหมายฉบับใดที่เหมาะสมกับทุกเวลาสถานการณ์ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญก็อาจแก้ไขได้ ตามเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ต้องเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น อาทิเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจุบันยังไม่เคยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ยังคงใช้ฉบับเดิมมาแต่แรก มีเพียงการแก้ไขปรับปรุงส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น การจะทำให้กลไกหรือมาตรการต่างๆ ในรัฐธรรมนูญยั่งยืนถาวรได้นั้น จึงอยู่ที่ทุกคนในสังคมที่จะกำหนดวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมว่าจะมีส่วนเข้าใจและเข้าถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยได้เพียงใด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น