วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติโรงเรียนวัดหัวกระบือ

 ประวัติวัดศีรษะกระบือ
     ตำนานวัดศีรษะกระบือ (วัดหัวกระบือ)  สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด  แต่จากหลักฐานทางวัตถุโบราณและเอกสารกับทั้งข้อมูลทางด้านโบราณคดี  พอจะอนุมานได้ว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย  หรืออาจก่อนหน้านั้น
หัวกระบือกบิลราชร้า           ณรงค์    แลฤา
ตัดกบาลกระบือดง              เด็ดหวิ้น
สืบเศียรทรพีดง                   คำเล่า   แลแม่
เสมอพี่เด็ดสมรดิ้น               ขาดด้วยคมเวร 

    (นิราศนรินทร์)

            โคลงนิราศนรินทร์บทนี้ เป็นบทที่มี “ เสียงกวี” โอ่อ่าที่สุดอีกบทหนึ่งซึ่งเป็นที่ยกย่องอย่างสูง นายนรินทรธิเบศร์ เดิมชื่อ อิน รับ ราชการเป็นมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพรมี บรรดาศักดิ์เป็นนายนรินทรธิเบศร์ แต่งหนังสือโคลงเล่มนี้เมื่อคราวตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จยกกองทัพหลวงไปปราบพม่าข้าศึกซึ่งยกลงมาตีเมืองถลางและเมืองชุมแพร เมื่อต้นรัชกาลที่๒ ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ โดยเส้นทางน้ำเข้าคลองด่านแล้วผ่านย่าน “ หัวกระบือ” ปัจจุบันนี้บ้านหัวกระบือมีคลองหัวกระบือและวัดศีรษะกระบือ (แต่ชาวบ้านยังคงเรียกวัดหัวกระบือ)อยู่ในแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีทางแยกจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อตรงกิโลเมตรที่ ๗ ไปชายทะเลบางขุนเทียนผ่านเข้าบ้านหัวกระบือได้สะดวก นอกจากโคลงนิราศนรินทร์แล้ว ยังมีโคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย ของพระยาตรัง กล่าวถึงอีกดังนี้

งามเงื่อนสุวภาพสร้อย         สาวโสมบูรณเอย
เศียรกระบือรบือนาม        แนะด้าว
ไฉนนุชลบฤาโฉม            เฉลิมโลกย์
เฉกเฉนงเสี่ยวไส้ย้าว         ยอกทรวง
           (พระยาตรัง
)
เมื่อสุนทรภู่ลอยเรือเข้าคลองด่านจะไปเมืองเพชรบุรี ครั้นผ่านย่านหัวกระบือจึงเขียนนิราศเมืองเพชรไว้ตอนหนึ่งว่า
ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อบ้าน          ระยะย่านยุงชุมรุมข่มเหง
ทั้งกุมภากล้าหาญเขาพานเกรง      ให้วังเวงวิญญาณ์เอกากาย
ถึงศิษย์หามาตามเมื่อยามเปลี่ยว     เหมือนมาเดี่ยวแดนไพรน่าใจหาย
ถึงศีรษะละหารเป็นย่านร้าย          ข้ามฝั่งซ้ายแสมดำเขาทำฟืน
        (สุนทรภู่)

“ วรรคสุดท้ายที่ว่า ข้ามฝั่งซ้ายแสมดำเขาทำฟืน” นั้นทุกวันนี้มีบ้านแสมดำอยู่ทัดจากปากคลองหัวกระบือลงไป นอกจากนี้นิราศแท่นดงรังสำนวนสามเณรกลั่น(ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๖) ยังกล่าวถึงหัวกระบือว่า

ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อย่าน       บิดาท่านโปรดเกล้าฯ เล่าแถลง
ว่าพญาพาลีซึ่งมีแรง              เข้ารบแผลงฤทธิ์ต่อด้วยทรพี
ตัดศีรษะกระบือแล้วถือขว้าง      ปลิวมากลางเวหาพนาศรี
มาตกลงตรงย่านที่บ้านนี้          จึงเรียกศีรษะกระบือเป็นชื่อนาม
         (นิราศเณรกลั่น)
 
                              เมื่อพิจารณาโคลงนิราศนรินทร์ และกลอนนิราศสามเณรกลั่นจะเห็นที่มาของชื่อย่าน “ หัวกระบือ ” นั้นมีความหมายสอดคล้องกันว่าเกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ ตอนปราบทรพี แล้วพาลีตัดหัว(ควาย) ทรพีขว้างไปตรงที่ย่านหัวกระบือนี้ ดังนั้นจึงมีชื่อว่าหัวกระบือ แต่ภายหลังกันเรียกว่าศีรษะกระบือ แต่ตำนานการสร้างวัดศีรษะกระบือที่เอกสารขอกรมการศาสนา(๒๕๒๖)บันทึกจากปากคำของชาววัดและชาวบ้านนั้นมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับขุนช้างขุนแผนช่วงต้น ๆ เรื่องที่ว่าสมเด็จพระพันวษาโปรดประพาสป่าล่าควายป่า และบรรดาควายป่าถูกขุนไกรซึ่งเป็นบิดาของพลายแก้ว(ขุนแผน) ฆ่าตัดหัวลงเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระพันวษาจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้นไว้แล้วให้ชื่อว่าวัดหัวกระบือหรือศีรษะกระบือ
จากลักษณะนิทานประจำถิ่นที่แตกต่างกันนี้ จะเห็นว่านิทานที่เกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์นั้นพยายามจะบอกความเป็นมาของ บ้านหรือหมู่บ้านในย่านนั้นๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นแต่นิทานที่เกี่ยวข้อง นั้น คือ ขุนช้าง ขุนแผน บอกมูลเหตุการสร้างวัด อันน่าจะเกิดขึ้นมาคราวหลังมาแล้ว ย่านหัวกระบือมีคลองหัวกระบือแยกออกไปจากเส้นทางคลองด่านหรือคลองสนามชัยที่ ต่อเนื่องเป็นคลองมหาชัย ทุกวันนี้จึงดูราวกับว่าคลองหัวกระบือเป็นทางนำสาขาของคลองด่าน เกี่ยวกับคลองหัวกระบือนี้ อาจารย์ทิวา ศุภจรรยา รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าเมื่อตรวจมณฑลแผนที่กรุงเทพฯสมัย ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) แล้วปรากฏว่าทั้งคลองด่าน คลองสนามชัยและคลองวัดหัวกระบือเป็นคลองเดียวกันและต่อเนื่องกันลงไปทางทิศใต้ และมีลักษณะภูมิประเทศและเส้นทางน้ำที่เป็นหลักฐานให้เชื่อว่าเป็นเส้นทางน้ำเก่าที่ติดต่อทะเลได้ ฝั่งทะเลในอดีตจะอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินแถว ๆ ปลายคลองหัวกระบือปัจจุบันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านลูกวัว และเมื่อชายฝั่งทะเลลดลงมาที่ตำแหน่งปัจจุบัน จึงได้มีการขุดคลองขุดราชพินิจใจต่อจากคลองหัวกระบือติดต่อกับทะเล แต่ในรายละเอียดที่จะให้ทราบว่าฝั่งทะเลที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินตรงช่วงเวลาที่ใช้คลองด่าน คลองสนามชัย และคลองหัวกระบือเป็นเส้นทางเข้าสู่ทะเลเมื่อใดนั้น  ยังคงต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไป ความ เห็นของอาจารย์ทิวา ศุภจรรยา สอดคล้องกับแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่ยุโรปเขียนขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จ พระเจ้าปราสาททอง และคัดลอกกันต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ดังได้มีพิมพ์รวมอยู่ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ แผนที่กรุงศรีอยุธยาของลาลูแบร์ระบุเส้นทางคลองด่านเชื่อมโยงแม่น้ำเจ้า พระยาที่บางกอกกับปากแม่น้ำท่าจีนไว้เป็นเส้นเดียวกัน แล้วพยายามที่จะบอกตำบลบ้านที่อยู่บนเส้นทางคลองด่านนี้ด้วยอักษรโรมันว่า BANGUEBEUZ/BANGUEBEUXซึ่งดูเหมือนจะใกล้เคียงกับชื่อย่าน “หัวกระบือ” มากที่สุด ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้จริงแล้วก็หมายความว่าคลองหัวกระบือก็คือคลองเดียวกับ คลองด่านนั่นเอง
ต่อมาภายหลังเมื่อมีการขุดคลองลัดโคกขามในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือและ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทำให้คลองหัวกระบือเป็นเส้นทางสาขาที่แยกออกไปต่าง หาก  นอกจากนี้แล้วซากศิลปกรรมที่วัดศีรษะกระบือซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในคลองหัว กระบือทุกวันนี้อันถือได้ว่านอกเส้นทางคลองด่านนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ทำขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยิ่งชวนให้เชื่อถือว่าก่อนหน้า นี้จะมีคลองลัดโคกขามนั้น การเดินทางเรือจะต้องใช้เส้นเก่าที่ผ่านเข้าไปทางคลองหัวกระบือ เกี่ยวกับซากศิลปกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ที่วัดศีรษะกระบือนั้น มีบันทึกอยู่ในหนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังประเทศไทยเรื่อง “จิตรกรรมสมัยอยุธยาจากสมุดข่อย” (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ: พฤษภาคม ๒๕๒๘) โดยสรุปว่า หลักฐานโบราณคดีที่ยังเหลือพอจะกำหนดอายุของวัดได้ มีเพียงเสมา เจดีย์ และสมุดข่อย
เสมา เป็นหินทรายสีแดง มีขนาดเล็กอย่างเสมาในตระกูลอัมพวา (ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม) เป็นใบเสมาในสมัยอยุธยาตอปลาย
เจดีย เป็นเจดีย์คู่ด้านหน้าโบสถ์ แข้งสิงห์ยาวมาก จึงน่าจะเป็นแบบ อยุธยาเช่นกัน
สมุดข่อย มีจารึกบอกศักราชว่าจารขึ้นในปี พ.ศ.๒๒๘๖ ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายประมาณ ๒๔ ปี ทั้งเส้นสายและการวางองค์ประกอบภาพทำให้สันนิษฐานได้ว่าเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
เกี่ยวกับสมุดข่อยที่วัดศีรษะกระบือนี้ น. ณ ปากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะในประเทศไทยเคยเสนอบทความเชิงคำนำเสนอไว้ในหนังสือ “จิตรกรรมสมัยอยุธยาในสมุดข่อย” เอาไว้แล้วอย่างละเอียด ดังจะขอนำมาบันทึกไว้ให้แพร่หลายอีกดังต่อไปนี้
ภาพเขียนจากสมุดข่อยที่วัดศีรษะกระบือนั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกับภาพเขียนบนสมุดข่อยทั้งหลายที่เขียนในหนังสือพระธรรมกับมรภาพระบาย สีปิดทองเป็นตัวประกอบ อันเริ่มมีสมัยอยุธยาเป็นต้นมาหรือบางทีอาจจะเก่าแก่ขึ้นไปกว่านั้นก็ได้เรา ยังไม่อาจจะชี้ลงไปให้เด็ดขาดว่าการทำสมุดกระดาษข่อยของเรามีมาแต่สมัยไหน รู้แต่ว่าถ้าเป็นการเทศนาโดยปกติท่านจะเทศน์จากใบลานที่จารด้วยเหล็กแหลม แล้วทาด้วยเขม่าหรือไม่ก็ลงรัก สมุดข่อยของคนไทยนอกจากจะเป็นพระธรรมคัมภีร์ ยังใช้ทำเป็นตำรับตำราต่าง ๆ เช่น วิชาโหรศาสตร์ ตำรายา ใช้จดคาถาอาคมและอุปเทห์ต่าง ๆ รวมทั้งเป็นคัมภีร์ที่ต้องเขียนภาพประกอบ เช่นพระมาลัยและไตรภูมิ  ตำราไตรภูมิกับพระมาลัยดูจะขึ้นชื่อลือชาที่สุด อย่างไตรภูมิพระร่วงนั้น ต้องใช้นายช่างจิตรกรทำการคัดลอกสืบทอดกันมา ตำราจึงไม่สูญหาย ไตรภูมิฉบับสุดท้ายที่มีชื่อเสียงมากคือ สมุดภาพไตรภูมิพระร่วงฉบับกรุงธนบุรี ที่พระมหาช่วย วัดกลางววิหารจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้จารซึ่งเรียกว่าฉบับหอสมุดแห่งชาติ กับไตรภูมิพระร่วงฉบับพิพิธภัณฑ์เบอร์ลินประเทศเยอรมัน ซึ่งน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออาจจะเป็นฉบับอยุธยาก็ได้ ด้วยในภาพมารพจญยังมีภาพทหารฝรั่งกำลังรากปืนใหญ่เข้ามาสัปปะยุทธ์ กับพระบรมศาสดา นายช่างจิตรกรเห็นว่าทหารฝรั่งเป็นพวกคริสต์ศาสนิกชน อันเป็นปรปักษ์กับศาสนาพุทธของตนจึงจัดประเภทให้เป็นมารไปเสียเลย ในนั้นยังมีรูปจีนแบบสุกรด้วย นั่นก็เพราะคนจีนนับถือผี มีการฆ่าสุกรเซ่นไหว้ภูตผี ก็เลยจัดให้เป็นมารไปด้วยอยู่ในฝ่ายมิจฉาทิฐิ          ถ้าเทียบภาพเขียนในสมัยอยุธยา อันปรากฏที่พนังพระอุโบสถจำนวนมาก กับภาพเขียนในสมัยอยุธยาในพระบฏ หรือเขียนบนแผ่นสมุดข่อย เรามีสมุดข่อยที่ขึ้นชื่อลือชาฉบับกรุงธนบุรี เช่น ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิพระร่วงฉบับหอสมุดแห่งชาติดังกล่าวเพียงฉบับเดียว ที่พอจะอ้างอิงได้ ส่วนฉบับอื่นที่แม้จะเชื่อว่าเขียนในสมัยอยุธยาก็หามีศักราชอ้างอิงไว้ไม่ นอกจากสมุดข่อยจากวัดศีรษะกระบือเท่านั้น  ในสมุดข่อยวัดศีรษะกระบือ มีจารึกศักราชบ่งว่า พ.ศ.๒๒๘๖ อันตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกถึง ๒๔ ปีนับว่าเป็นจิตรกรรมบนสมุดข่อยสมัยอยุธยาที่บอกอายุไว้อย่างชัดแจ้ง ลักษณะสมุดข่อยวัดศีรษะกระบือ โดยทั่วไปแล้วขนาดกับกระดาษข่อยก็เป็นลักษณะเดียวกับสมุดข่อยสมัยรัตน โกสินทร์ กระดาษข่อยสีขาวนั้นก็มิได้มัวหรือออกสีเหลืองมากแต่อย่างใด เมื่อระบายด้วยสีบาง ๆ แบบสีน้ำตามเทคนิคการระบายสีของสมัยอยุธยาแล้ว ก็ทำให้ดูสีสดใสมาก ปกหลังและปกหน้าของสมุดลงรักดำเขียนลายประจำยามชนิดลายก้ามปู ตรงกลางเป็นรูปกลมสลับกับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนอย่างใหญ่ ตัวกนกสะบัดปลายเป็นกนกเปลวมีกรอบเป็นเส้นตรง ๔ ด้าน เมื่อ เทียบกับภาพเขียนสมัยอยุธยาที่วัดช่องนนทรี กรุงเทพฯ หรือผนังที่อุโบสถวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรีแล้ว จิตรกรรมจากทั้ง ๒ แห่งนี้มีลักษณะคล้ายกันมาก คือทารองพื้นสีขาว ศิลปินผู้เขียนจะเขียนเส้นอย่างอิสระ(free hand) และใส่สีขาวเมื่อต้องการให้เป็นสีอ่อนมากหรือกลาง ๆ อันเป็นวิธีการของสีฝุ่นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ภาพเขียนในสมุดข่อยที่วัดศีรษะกระบือมีลักษณะพิเศษผิดกับภาพเขียนบนฝา ผนัง ๒ แห่งดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือใช้สีสดใสกับมีสีสด ๆ ใช้เพิ่มมากกว่าสีในภาพผนัง สีที่สะดุดตาก็คือสีเหลืองเช่น สีพื้นและสีนกเป็นสีเหลืองแบบ(lemon yellow) การระบายสีพื้นก็อ่อน เช่น รูปนกบนโขดหิน ๒ ตัว กำลังเดินเหยาะย่างไปมา เขาระบายสีพื้นด้วยสีแดงอ่อนแต่บางตอนก็เป็นสีส้ม พอผ่านโขดหินก็เอาสีน้ำตาลเหลืองระบายลงบนโขดหินมีสีน้ำเงินจาง ๆ ผสมกับน้ำตาลอ่อน และยังมีสีแดงอ่อนส่วนตัวนกกับกวางที่ระบายสีสดใสเขาตัดเส้นด้วยสีดำ ดูเด่นออกมาอย่างไม่รู้สึก ดอกไม้ที่ต้นสีขาวแก่ตัดเส้นด้วยสีแดง ดูรวม ๆ แล้วสีงามซึ้งและผสานกลมกลืนกันมาก เป็นเทคนิคการเขียนสีน้ำที่สะอาดตามาก และดูทันสมัย แม้ปัจจุบันก็ไม่มีใครทำเทคนิคได้ ถึงส่วนรูปเทวดาผู้ทรงมเหสักข์นั้นเล่า ดอกไม้อันมีกิ่งก้านจากมือประนมดูลอยกระจะเด่นเต็มไปทั้งเนื้อที่ มีดอกตูมกับใบแซมบนพื้นสีแดงแสดอันฉ่ำ สดใสยิ่งนัก ภาพเขียนจากสมุดข่อยวัดศีรษะกระบือนั้น จักว่าทรงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ทางศิลปะยิ่งนัก


ลำดับเจ้าอาวาสวัดหัวกระบือ
                                                                                 ๑. พระอาจารย์แดง                      ๒. พระอาจารย์จวน
                                                                                 ๓. พระอาจารย์รุ่ง                        ๔. พระอาจารย์ทัด
                                                                                 ๕. พระอาจารย์เคลือบ                  . พระอาจารย์สังข์
                                                                                 ๗. พระอาจารย์เลิศ                      ๘. พระอาจารย์ชุม
                                                                                  ๙. พระอาจารย์ใจ                       ๑๐. พระอาจารย์ถม
                                                                                ๑๑. พระครูวิบูลพัฒนกิตติ์( สละ กตปุญโญ)
         ตั้งแต่ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น